เรื่องสุขภาพ

แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล

นักวิจัยเตือนภัย แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล สุดอันตราย พิษร้ายแรงกว่างูเห่า 3 เท่า ยังไม่มีเซรุ่ม หรือยาถอนพิษ อาละวาดในไทยแถบชุมชนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แนะวิธีสังเกตรูปร่างลักษณะ ตัวขนาด 1 ซม. ท้องจะกลมป่องใหญ่กว่าหัวหลายเท่า มีสีน้ำตาลสลับขาวลายเป็นริ้วๆ ชอบแฝงตัวในที่ต่ำ ให้ระวังลูกหลาน




นายประสิทธิ์ วงษ์พรม นักวิจัยจากภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ศึกษาเรื่องแมงมุมในประเทศไทย เปิดเผยวันที่ 18 มกราคม ว่า จากการศึกษาและเก็บข้อมูลเรื่องแมงมุมในประเทศไทย พบว่าขณะนี้มีแมงมุมพิษชนิดหนึ่ง ชื่อ แมงมุมแม่หม้ายน้ำตาล ซึ่งเดิมพบแต่ในประเทศสหรัฐอเมริกา แถบฟลอริดา เท็กซัส และบริเวณเขตเส้นศูนย์สูตร ปัจจุบันได้แพร่กระจายเข้ามาในประเทศไทยแล้ว เชื่อว่าขณะนี้แมงมุมดังกล่าวได้ขยายพันธุ์กระจายไปยังชุมชนต่างๆ รอบๆ ปากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง และอ่าวไทยตอนบนแล้ว เบื้องต้นได้รับรายงานว่าเจอแมงมุมแม่หม้ายน้ำตาลชุกชุมที่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม และมีรายงานมีคนถูกกัดที่นั่น แต่ยังไม่ได้ลงไปตรวจสอบความชัดเจน


แมงมุมชนิดนี้ มีพิษรุนแรงทำลายระบบเลือด และระบบภูมิคุ้มกัน พิษร้ายแรงกว่าพิษของแมงมุมแม่หม้ายดำ 2 เท่า และร้ายแรงกว่าพิษงูเห่า 3 เท่าทีเดียว เพียงแต่เวลาแมงมุมแม่หม้ายน้ำตาลกัด จะปล่อยพิษออกมาไม่หมด ความร้ายแรงอาจจะไม่เท่าแม่หม้ายดำ เพราะแม่หม้ายดำ หรืองูเห่า กัดแล้วปล่อยพิษออกมาทั้งหมด เปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คือ หากโดนงูเห่า หรือแม่หม้ายดำกัด จะปล่อยพิษออกมาในระดับมิลลิกรัม คือ 1 ส่วนในพันส่วน แต่แม่หม้ายน้ำตาลจะปล่อยพิษออกมาในระดับ ppm คือ 1 ส่วนในล้านส่วน อย่างไรก็ตาม หากถูกกัดหลายตัวพร้อมกันปริมาณพิษก็จะเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

 

ลักษณะของแมงมุมแม่หม้ายน้ำตาล




ขนาดของตัวมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร บริเวณท้องจะโตกว่าหัวหลายเท่า ท้องจะกลมป่อง ด้านล่างมีลักษณะคล้ายรูปนาฬิกาทรายสีส้ม ด้านบนมีสีน้ำตาลสลับขาวลายเป็นริ้วๆ มีจุดสีดำสลับขาวตรงท้องข้างละ 3 จุด รวมเป็น 6 จุด วางไข่ครั้งละ 200-400 ฟอง
 

สาเหตุการแพร่ระบาด

คาดว่า จะเข้ามากับเรือสินค้าเป็นหลัก และมีรายงานด้วยว่า มีพ่อค้าบางคนนำมาขายให้คนที่ชอบเลี้ยงสัตว์แปลก โดยไม่รู้ว่าเป็นสัตว์ที่มีพิษร้ายแรง ขณะนี้ ยังไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการว่า มีผู้เสียชีวิตจากการถูกแม่หม้ายน้ำตาลกัด แต่ มีรายงานการถูกกัดแล้วจากหลายพื้นที่ ส่วนใหญ่ผู้ถูกกัดจะมีอาการแพ้อย่างแรง แผลจะเหวอะหวะ และเป็นผื่นบวมแดงเจ็บปวด มีหนอง แผลจะหายช้ามาก เพราะพิษทำลายระบบภูมิคุ้มกัน ระบบน้ำเหลือง และทำลายเม็ดเลือดขาว คนที่ถูกกัดส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าแผลดังกล่าวเกิดจากอะไร ขณะนี้ ยังไม่มีเซรุ่ม หรือยาถอนพิษ ทำได้แค่รักษาตามอาการเท่านั้น ยังโชคดีว่า แมงมุมชนิดนี้ไม่มีนิสัยดุร้าย ไม่โจมตีหรือบุกกัดใครอย่างไม่มีเหตุผล จะหลบมากกว่าสู้ และจะกัดเมื่อถูกรุกรานที่อยู่เท่านั้น



แผลเหวอะหวะนี้ ไม่ใช่แผลจากแมงมุมแม่หม้ายน้ำตาลที่มีอยู่ในเมืองไทย แต่เกิดจากการถูกกัดของแมงมุมแม่หม้ายน้ำตาลทะเลทราย ที่มีอยู่ในออสเตรเลียเท่านั้น สำหรับในเมืองไทยยังไม่พบ

ข้อสังเกตความแตกต่าง


ระหว่างแมงมุมทั่วไปกับแมงมุมแม่หม้ายน้ำตาลว่า นอกจากลักษณะลำตัวแล้ว ให้สังเกตลักษณะการทำรัง หรือการชักใย แมงมุมทั่วไปจะชักใยค่อนข้างสวยงามเป็นระเบียบ และชักใยอยู่ที่สูง เช่น ตามขื่อ ตามคาน หรือหลังคาบ้าน



แต่แม่หม้ายน้ำตาลจะทำรังอยู่ที่ต่ำ สูงไม่เกิน 1 เมตร ลักษณะรังหรือใยจะยุ่งเหยิงไม่เป็นระเบียบ พบเห็นได้ตามใต้โต๊ะ เก้าอี้ รองเท้าเก่าในบ้าน ที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กๆ ที่ชอบคลานเข้าไปอยู่ตามซอกมุมบ้าน หากไปเจอแมงมุมชนิดนี้อาจจะถูกกัด และตกอยู่ในอันตรายได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลในเชิงลึก รวมทั้งเรื่องการกระจายพันธุ์ จึงขอความร่วมมือ สำหรับผู้พบเห็นแมงมุมที่มีลักษณะดังกล่าว ขอความกรุณาแจ้งมายังภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ด้วย


ข้อมูลจาก: มติชนออนไลน์ วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2552 เวลา 08:13:03 น.
picture credit :
  • http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1232288256 (ภาพแมงมุมภาพที่สองกับภาพสุดท้าย)
  • http://www.bughousepestcontrol.com/pest_month.php (ภาพแมงมุมภาพรก)
  • http://nelsonsdive.net/spiderpics/spiderpics.html (ภาพแผลเหวอะ)
  • http://www.tourdoi.com/webboard2/generate.cgi?content=6333&board=board_1 (ภาพใยแมงแมุม จากทัวร์ดอย ทริป ภูสอยดาว 3-5 ก.ย. 2550)