เรื่องสุขภาพ

คำถาม-คำตอบสำหรับไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009

ในสถานการณ์ปัจจุบัน


1. จากข่าวที่พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ แสดงว่าเป็นโรคที่อันตรายมากใช่หรือไม่

จากรายงานขององค์การอนามัยโลก พบผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ร้อยละ 0.4 สำหรับในประเทศไทย (ข้อมูลถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2552) มีผู้เสียชีวิต 5 รายจากจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการ ยืนยันว่าเป็นโรคกว่า 1,473 ราย อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบัน จำนวนผู้ป่วยส่วนที่ไม่ได้รับการ
ยืนยัน (และหายเองจากโรคแล้ว) มีมากกว่า 1,473 ราย และเป็นไปได้ว่าอาจมีมากกว่าถึง 10 เท่า นั่นหมายถึงจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิต 3 รายนั้นเกิดในผู้ป่วยที่เป็นโรค 15,000 ราย ซึ่งยิ่งบ่งชี้ว่าอัตราตายจากโรคนี้ต่ำ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่เสียชีวิตเกือบทั้งหมดเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังอยู่เดิม หรือมีปัญหาด้านสุขภาพ
อื่น

2. ทำไมช่วงแรกทางโทรทัศน์ถึงออกข่าวเหมือนเป็นไข้หวัดร้ายแรง มีการตรวจคัดกรองคนที่กลับจากต่างประเทศทุกคน แต่ปัจจุบันกลับบอกว่าโรคนี้ไม่รุนแรงและให้การรักษาเหมือนไข้หวัดตามฤดูกาลและเมื่อไปโรงพยาบาลก็ไม่มีการตรวจ

เนื่องจากในช่วงแรกยังไม่มีการแพร่ระบาดในเมืองไทย กระทรวงสาธารณสุขจึงจำเป็นต้องทำการคัด
กรองผู้ที่เดินทางระหว่างประเทศ เพื่อหาทางสกัดกั้นไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างให้ได้นานที่สุด แต่
จากสถานการณ์ปัจจุบัน ได้มีการระบาดของโรคเกิดขึ้นภายในประเทศแล้ว จึงต้องมีการปรับกลยุทธ์ในการ
ควบคุมการระบาดเป็นการดูแลและรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหนักและอาจเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต ดังนั้น จึง
ปรับเปลี่ยนแนวทางการคัดกรองและรักษาจึงเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์

3. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่โฆษณาตามโรงพยาบาลต่างๆ สามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ได้จริงหรือไม่

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดตามโรงพยาบาลนั้น เป็นวัคซีนสำหรับป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลซึ่งยังไม่มีหลักฐานว่าใช้ป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ได้ และในปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ได้โดยตรง

4. ทำไมจึงแนะนำให้ผู้ป่วยและญาติรวมทั้งประชาชนทั่วไปสวมหน้ากากอนามัย แต่แพทย์/พยาบาลให้สวมหน้ากากอนามัยชนิดพิเศษเวลาเข้าไปดูแลผู้ป่วย

เนื่องจากผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนั้นเป็นผู้ที่มีอาการรุนแรง ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดเป็นเวลานาน และมีกิจกรรมการตรวจรักษาบางอย่างที่อาจมีการแพร่กระจายของเชื้อได้มากและง่ายขึ้น ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์จึงจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยชนิดพิเศษ อย่างไรก็ตาม
หน้ากากอนามัยที่ให้ประชาชนทั่วไปสวมใส่นั้นสามารถลดการแพร่กระจายเชื้อที่ติดมากับละอองฝอยได้ดีถึงร้อยละ 80 (จากการวิจัยขององค์การอนามัยโลก) หน้ากากอนามัยจึงเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่สามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ได้เป็นอย่างดี

5. คนกลุ่มไหนบ้างที่เมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่แล้ว มีโอกาสเกิดอาการรุนแรงมากขึ้นผู้ป่วยที่ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคปอด หอบหืด โรคหัวใจและ

หลอดเลือด เบาหวาน ผู้มีภูมิต้านทานต่ำ โรคอ้วน ผู้สูงอายุ (มากกว่า 65 ปี) เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี หญิงมีครรภ์และผู้มีโรคเรื้อรังอื่นๆ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์หากมีอาการของโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ

6. หากพบมีคนในสถาบันการศึกษาป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ จำ เป็นต้องปิดสถาบันการศึกษานั้นหรือไม่

ในสถานการณ์ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องปิดสถาบันการศึกษา แต่ควรเน้นให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีอาการของไข้หวัดใหญ่พักรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนหายป่วย (ประมาณ 3-7 วัน ) และเน้นให้ทุกคนล้างมือและทำความสะอาดบริเวณหรือสิ่งแวดล้อมที่มือไปสัมผัสบ่อย ๆ

7. การล้างมือช่วยป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้อย่างไร

เชื้อไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อได้โดยตรงจากน้ำมูก น้ำลายหรือเสมหะของผู้ป่วยที่ไอหรือจาม หรือจากมือที่ไปจับต้องสิ่งของเครื่องใช้ที่มีน้ำมูก น้ำลายหรือเสมหะของผู้ป่วยปนเปื้อนอยู่ เช่น ราวบันได ลูกบิดประตู โทรศัพท์ แก้วน้ำ และเชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ขณะที่มือไปสัมผัสบริเวณเยื่อบุจมูก ปากและตา

 

คำแนะนำสำหรับผู้ที่ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่

การดูแลรักษาตนเองที่บ้าน
ผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรงเมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ จะมีอาการเหมือนไข้หวัดใหญ่ที่พบตามปกติ เช่น ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอ เจ็บคอ แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 95 มีอาการไม่รุนแรง สามารถหายป่วยได้เอง โดยมีการดูแลตนเอง ดังนี้

1. การดูแลรักษาตนเองที่บ้าน
 
1.1. การปฏิบัติตัว
− พักผ่อนให้เพียงพอ ( คืนละ 6-8 ชั่วโมง ) ไม่นอนดึก
− ดื่มน้ำมากๆ
− รับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ และยาลดน้ำมูกหากมีอาการคัดจมูกและมีน้ำมูก
− ห้ามกินยาแอสไพริน
 
1.2 การสังเกตุอาการตนเองให้มาพบแพทย์ เมื่อมีอาการดังต่อไปนี้
− อาการดังกล่าวไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน
− ไข้สูง ซึม นอนซม
− อาเจียนมาก รับประทานอาหารไม่ได้
− ไอมาก
− รู้สึกเหนื่อย หายใจลำบาก หอบ
− เจ็บหน้าอกเวลาไอหรือหายใจทุกครั้ง
 
หมายเหตุ อาการต่างๆ เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าอาจเกิดปอดบวมขึ้น ซึ่งเป็นโรคแทรกซ้อนที่พบได้ในผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ (ทั้งไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ไข้หวัดนก และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่)จำเป็นต้องได้รับการประเมินโดยแพทย์ใหม่อีกครั้ง
 
2 การป้องกันการติดเชื้อสำหรับสมาชิกในครอบครัวและผู้อื่น
 
2.1 ผู้ป่วยใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น
2.2 ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือใช้แอลกอฮอล์เจลถูมือบ่อย ๆ
2.3 หยุดเรียนหรือหยุดทำงาน และพักอยู่ที่บ้านจนหายป่วย (ประมาณ 3-7 วัน)
2.4 ใช้กระดาษทิชชู่ปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ไอหรือจาม และทิ้งในถังขยะที่มีฝาปิด
3 วิธีการใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง
3.1 ล้างมือก่อนใส่และหลังถอดหน้ากากอนามัยทุกครั้ง
3.2 สวมหน้ากากอนามัยให้คลุมทั้งจมูกและปาก โดย
− เอาด้านที่มีขอบลวดอยู่ด้านบน
− เอาด้านที่มีสีเข้ม (หรือมีลักษณะมันวาวและลื่น) ออกด้านนอก
− เมื่อสวมเสร็จให้กดแกนลวดด้านบนแนบกับดั้งจมูกและใบหน้า
 
 

กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ถือหน้ากากอนามัย (ให้คนที่ไอจามใส่)


ข้อมูล: คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และ โรงพยาบาลศิริราช
1 กรกฎาคม 2552
 

Saksiri Sirikul Research